การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรผู้ทำสวนชาเมี่ยง
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรประกอบอาชีพผลิตชาเมี่ยงในพื้นที่บ้านแม่ลัว ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ พบว่าเกษตรกรประกอบอาชีพผลิตชาเมี่ยง มีการดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ยังช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่ป่าสวนชาเมี่ยงให้ห่างไกลจากการใช้สารเคมี จึงเป็นส่วนที่ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านแม่ลัวยังรักพื้นที่ป่าและไม่ยอมย้ายถิ่นฐานหรือเปลี่ยนอาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีอาชีพที่มีรายได้ดีกว่าก็ยังเลือกที่จะทำอาชีพสวนชาเมี่ยง ในการทำสวนชาเมี่ยงนั้นไม่ได้มีการเสียต้นทุนในการปลูกชาเมี่ยง เพราะมีต้นชาเมี่ยงที่ได้รับสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นทำให้ชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านแม่ลัว ที่อยู่อย่างพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย มีรายได้จากการผลิตชาเมี่ยงมากกว่ารายจ่าย ดังนั้น เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นผลให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงอย่างมาก
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรประกอบอาชีพผลิตชาเมี่ยงของบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พบว่า เกษตรกรประกอบอาชีพทำสวนชาเมี่ยงมีการดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์และเป็นการอนุรักษ์ป่าไปด้วยในเวลาเดียวกัน ในการทำสวนชาเมี่ยงนั้นไม่ได้มีการเสียต้นทุนในการปลุกชาเมี่ยง เพราะเช่นเดียวกับพื้นที่บ้านแม่ลัวที่ได้สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้บ้านป่าเหมี้ยง มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ดังนั้น เมื่อสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นผลให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรทำสวนชาเมี่ยงของบ้านแม่เหล่า ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมการปลูกชาเมี่ยง เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ให้เกิดประโยชน์ และการปลูกชาเมี่ยงไม่ได้มีการเสียต้นทุนในการปลูก เพราะมีต้นชาเมี่ยงที่ได้รับสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง เพราะไม่ได้มีการลงทุนในส่วนของการปลูกชาเมี่ยงจะลงทุนแค่ในส่วนของการขายแต่ก็ยังเพียงพอต่อการใช้จ่ายของชาวบ้าน
สรุปผลการวิจัยโครงการวิจัยย่อยที่ 3 การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานการผลิตชาเมี่ยง ในภาคเหนือของประเทศไทย
ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานการผลิตชาเมี่ยง ในภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบไปด้วยส่วนสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ ผลการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตชาเมี่ยง และผลการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตชาเมี่ยงในภาคเหนือ โดยมีขอบเขตของประชากรอยู่ใน 3 พื้นที่ คือ บ้านแม่ลัว ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่, บ้านป่าชาเมี่ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง และ บ้านเหล่า ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้กลุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนการผลิตชาเมี่ยงจำนวน 8 กลุ่ม และกลุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์รูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตชาเมี่ยงจำนวน 10 กลุ่ม ได้ผลสรุปดังนี้
สรุปผลการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตชาเมี่ยงในภาคเหนือของประเทศ
ในส่วนของข้อมูลทั่วไปพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศ หญิง คิดเป็นร้อยละ 62.50 ส่วนใหญ่จะมีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 41-50 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.50 และสืบทอดการทำชาเมี่ยงมาจากบรรพบุรุษ โดยมีประสบการณ์การผลิต อยู่ในช่วง 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 37.50
ผลจากการศึกษาต้นทุนการผลิตชาเมี่ยง พบว่า เงินลงทุนเริ่มแรกของเกษตรกรจังหวัดแพร่ อยู่ระหว่าง 4,970-17,040 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน, จังหวัดลำปาง อยู่ระหว่าง 14,140-14,640 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือนและ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง 1,285-12,301 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน มีต้นทุนคงที่เฉลี่ยในการผลิตชาเมี่ยงของเกษตรกรจังหวัดแพร่ อยู่ระหว่าง 683-4,604 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยการลงทุนเครื่องตัดหญ้าและถังหมักที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ, จังหวัดลำปาง อยู่ระหว่าง 2,635-2,900 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ในพื้นที่ลำปางส่วนใหญ่เกษตรกรจะลงทุนเครื่องตัดหญ้าเป็นของตนเอง และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง 273-575 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เกษตรกรจะไม่มีการลงทุนเครื่องตัดหญ้า ต้นทุนวัตถุดิบทางตรง (Direct Material) พบว่า จังหวัดแพร่ มีต้นทุนวัตถุดิบทางตรงอยู่ระหว่าง 150-800 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน, จังหวัดลำปาง ไม่พบต้นทุนวัตถุดิบ และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง 400-4,000 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ความแตกต่างของต้นทุนที่มีนัยสำคัญคือต้นทุนการซื้อตอก ต้นทุนค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) พบว่า จังหวัดแพร่ มีต้นทุนค่าแรงงานทางตรง อยู่ระหว่าง 0-97,200 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ขึ้นอยู่กับแต่ละครัวเรือนจะเก็บเกี่ยวด้วยตนเองหรือจ้างเหมา, จังหวัดลำปาง ไม่พบต้นทุนค่าแรงงานทางตรง และ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง 1,550-3,050 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการผลิต (Overhead Expense) พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีค่าใช้จ่ายในการผลิต อยู่ระหว่าง 0-4,935 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน, จังหวัดลำปาง อยู่ระหว่าง 2,944-3,264 บาท ต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน และ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง 3,480-6,325 บาทต่อพื้นที่ต่อครัวเรือน ซึ่งความแตกต่างกันของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ขึ้นอยู่กับ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ผลจากการศึกษาต้นทุนรวมต่อกิโลกรัม พบว่า จังหวัดแพร่ มีต้นทุนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 12.62 บาทต่อกิโลกรัม จังหวัดลำปางอยู่ที่ประมาณ 0.69 บาทต่อกิโลกรัม และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ประมาณ 4.96 บาทต่อกิโลกรัม
ผลการศึกษาอัตรากำไรขั้นต้นต่อต้นทุนขาย พบว่า จังหวัดแพร่ มีอัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายอยู่ระหว่าง ร้อยละ 31.90-88.64 จังหวัดลำปาง อยู่ระหว่างร้อยละ 88.76-97.95 และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่างร้อยละ 47.59-84.02 ผลจากการศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) พบว่า จังหวัดแพร่ มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนระหว่าง ร้อยละ 780.13-4,782.18 จังหวัดลำปาง อยู่ระหว่างร้อยละ 90.80-789.80 และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่างร้อยละ 90.8-525.63 ผลจากการศึกษาจุดคุ้มทุน(Break Even Point) ของการผลิตชาเมี่ยง พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดคุ้มทุนในการผลิตชาเมี่ยงอยู่ที่ 27.32-460.4 กิโลกรัม จังหวัดลำปาง อยู่ที่ 133.22-152.63 กิโลกรัม และ จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 19.5-23.95 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนจุดคุ้มทุนต่ำที่สุด เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากถึงเฉลี่ยปีละประมาณ 5,000 กิโลกรัม ในขณะที่ อีก 2 พื้นที่ เก็บผลผลิตได้เฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 กิโลกรัม จากผลสรุปการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 พื้นที่ จำนวน 8 กลุ่มตัวอย่าง ถึงแม้จะมีความแตกต่างในเรื่องต้นทุนและผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้มีผลตอบแทนที่ดึงดูดความสนใจต่อธุรกิจอื่นที่จะเข้ามาร่วมลงทุนมากนัก แต่ในมุมมองของเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ยังคงมองว่า การผลิตชาเมี่ยงเป็นอาชีพที่มั่นคง ถึงแม้จะไม่ได้มีกำไรจากการผลิตมากนักแต่ยังมีผลตอบแทนที่ได้รับในรูปแบบอื่น เช่น การได้อยู่ในพื้นที่ทำกินที่ดี มีทั้งอากาศ น้ำ ที่บริสุทธิปราศจากสารปนเปื้อนใดๆ มีชุมชนที่ปราศจากอาชญากรรม มีวัฒนธรรมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีการปันน้ำใจกันในชุมชน จนทำให้คนส่วนใหญ่ที่นี่มีความสุขและอายุยืน ทำให้เกษตรกรยังยึดมั่นที่จะประกอบอาชีพหลักในการผลิตชาเมี่ยง ถึงแม้ว่าตนเองสามารถประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้มากกว่าก็ตาม
ผลการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตชาเมี่ยงในภาคเหนือ
ผลจากการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตชาเมี่ยงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือภาคเหนือ จากข้อมูลที่รวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 10 กลุ่ม พบว่า ห่วงโซ่อุปทานของชาเมี่ยงในแต่ละพื้นที่มีระดับความซับซ้อนน้อย ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ส่วนใหญ่ จะมีเพียงเกษตรกรผู้ปลูก ดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว, ตัวแทนสมาชิกผู้รวบรวมเพื่อแปรรูป, ผู้จัดจำหน่าย และลูกค้า บางครั้งอาจทับซ้อนกันในหน้าที่ของสมาชิกภายในห่วงโซ่ พื้นที่ปลูกชาเมี่ยงส่วนใหญ่มีการปลูกมายาวนามตามประวัติศาสตร์ความเป็นมาเริ่มแรกในแต่ละท้องถิ่น มีการดูแลรักษาชาเมี่ยงที่คล้ายคลึงกัน คือ จะทำเพียงเพียงตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มไม่มีความสูงมากเกินไปที่ยากต่อการเก็บเกี่ยว และตัดหญ้าบริเวณโดยรอบเพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ได้ง่าย ไม่ค่อยพบโรคระบาดและโรคแมลงในชาเมี่ยง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาและสารเคมี ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือบำรุงดินเพราะพื้นที่ป่าที่ชาเมี่ยงอาศัยอยู่ได้ต้องมีความสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์ที่เพียงพอ และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ไม่พบการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากนัก แต่พบว่า ในจังหวัดแพร่มีการเพาะเมล็ดเพื่อปลูกทดแทนต้นที่ตายไป ลักษณะการเก็บชาเมี่ยงจะใช้วิธีกะประมาณ และเรียกเป็นกำ ซึ่งจะได้น้ำหนักที่ไม่เท่ากันต่อกำในแต่ละพื้นที่ ทำให้ต้องแปลงค่าน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเพื่อเทียบเคียงเป็นหน่วยสากล การเด็ดใบขณะเก็บเกี่ยวพบว่า ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จึงทำให้ระยะเวลาในการผลิใบของต้นมีความแตกต่างกัน ในกระบวนการผลิต มีเทคนิคและอุปกรณ์ที่ใช้อาจมีความแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น แต่มีจุดมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ไม่ต่างกันมากนัก และเมื่อทดลองรสชาติแล้วคุณสมบัติแล้ว ไม่ได้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของผลผลิตในแต่ละแห่งอย่างชัดเจน การจัดจำหน่าย สามารถขายได้ทั้งใบสด หรือขายเมื่อนึ่งเสร็จ หรือขายเมื่อผ่านกระบวนการหมักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจในการขาย พบว่า ราคาไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาว่าจะขายในรูปแบบใด แต่ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจของเกษตรกรคือ แรงงาน และเวลาในการผลิต
ผลจากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค (SWOT Analysis) ในภาพรวมของทั้ง 3 พื้นที่ มีดังนี้
จุดแข็ง อยู่ที่ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดฤดู ต้นทุนผลิตต่ำ วัฒนธรรมการรับประทานชาเมี่ยงในพื้นที่ยังคงมีอยู่ บางพื้นที่ยังสามารถเชื่อมโยงสู่การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน อย่างที่เห็นได้เด่นชัดในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นคนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างกลมเกลียวถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน คนในชุมชนมีฐานะความเป็นอยู่ทที่ใกล้เคียงกัน มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
จุดอ่อน ที่พบคือ แรงงานในครัวเรือนไม่เพียงพอต่อการผลิต ทำให้ต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตในค่าแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในบางพื้นที่อาจมีผลกระทบต่อการบุกรุกของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ และยังคงพบจุดอ่อนในเรื่องการแปรรูปเพื่อในการเพิ่มมูลค่า และไม่มีผู้รับสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ในรุ่นถัดไป
โอกาส พบว่า เนื่องจากป่าชาเมี่ยงแต่ละแห่งเป็นพื้นที่ใกล้กับเขตป่า อาจะทำให้เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ และพื้นที่บางแห่งเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ชาชาเมี่ยง การทำหมอนชาเมี่ยง เป็นต้น มีหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่เนื่องจากเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเหนือ
อุปสรรค วัฒนธรรมการรับประทานชาเมี่ยงลดน้อยลง ป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้น โดยเฉพาะการเผาป่าในช่วงฤดูแล้ง, ข้อมูลเชิงวิชาการและการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่การผลิตชาเมี่ยงยังมีน้อย และยังไม่มีแผนการดำรงรักษาภูมิปัญญาและการผลิตชาเมี่ยงให้ยืนยาวอย่างชัดเจน