กระบวนการผลิตเมี่ยง
กระบวนการผลิตเมี่ยงเป็นความรู้ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ในแต่ละพื้นที่จึงอาจมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ วัตถุดิบที่เป็นใบเมี่ยงสด วิธีการเก็บใบเมี่ยงสด การหมักเมี่ยง รวมถึง ภาชนะบรรจุ ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียด ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิต ดังนี้
1. การเก็บใบเมี่ยงสด
การเก็บใบเมี่ยงสดอาจเก็บโดยใช้มือเด็ด หรือ อาจใช้ปลอกใบมีดสวมติดนิ้วมือในการตัด การเก็บใบเมี่ยงสดมักจะมี 2 แบบ กล่าวคือ แบบแรกจะเก็บในส่วนของใบเมี่ยงอ่อน (ใบที่ 4-6) โดยตัดเอาส่วนปลายใบประมาณ 2 ในสามส่วนมัดเป็นก้อนให้ได้ขนาดประมาณ 400-500 กรัม จะพบได้ในแหล่งผลิตเมี่ยงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และ เชียงราย อีกแบบหนึ่ง คือ การเก็บใบเมี่ยงทั้งใบ เก็บทั้งส่วนที่เป็นใบอ่อน และ การเก็บส่วนยอด รวบมัดเป็นกำๆ เรียงใบ เรียกว่า เมี่ยงแหลบ ส่วนยอด สามารถเก็บรวมมากับใบเมี่ยงได้ ขนาดประมาณ 150 - 200 กรัม พบได้ในแหล่งผลิตเมี่ยง ในพื้นที่จังหวัดแพร่ และ น่าน
2. การนึ่งเมี่ยง
ใบเมี่ยงสด ที่รวบมัดเป็นกำในขั้นตอนแรก จะนำมาเรียงในไหนึ่งเมี่ยง แล้วนึ่งด้วยไอน้ำร้อนจนสุก ใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับ จำนวนเมี่ยงสดที่นึ่งแต่ละครั้ง เมี่ยงสุกได้ที่ จะมีลักษณะสีเหลืองนิ่ม ถ้านึ่งเมี่ยงไม่สุก จะทำให้ใบเมี่ยงมีสีเข้มแดงหลังหมัก จากนั้น เทเมี่ยงที่นึ่งเสร็จแล้วออกจากไหลงบนพื้นที่ปูด้วยพลาสติกสะอาด ผึ่งให้เย็น แล้ว มัดเมี่ยงอีกครั้งให้แน่น หรือ มัดใหม่ให้ได้กำเมี่ยงที่เล็กลง เมี่ยงที่มัดได้ในขั้นตอนนี้จะเป็นมัดที่จะใช้จำหน่ายในขั้นตอนสุดท้าย
3. การหมักเมี่ยง
เมี่ยงสุกที่ผ่านการนึ่งแล้ว จะนำมาหมักในสภาวะไร้อากาศ ซึ่งเป็นการหมักโดยแบคทีเรียแลคติก (Lactic acid bacteria) โดยระหว่างการหมัก แบคทีเรียแลคติคจะผลิตสารต่าง ๆ เช่น กรดอินทรีย์ต่าง ๆ เอนไซม์โปรติเอส สารให้กลิ่นรส และ สารที่สามารถยับยั้งแบคทีเรียอื่น เช่น bacteriocin จึงทำให้เมี่ยงหมักมีรสเปรี้ยว
การหมักเมี่ยงสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
“แบบที่ไม่ใช้รา” กล่าวคือ เมี่ยงนึ่งจะถูกอัดเรียงลงไปในภาชนะตะกร้าไม้ไผ่ซึ่งรองด้วยพลาสติกหนา และ ใบตองจนแน่น (ภาพที่ 3) จากนั้น เติมน้ำให้ท่วม แล้วมัดหรือปิดภาชนะให้แน่น หากอัดเมี่ยงไม่แน่นน้ำจะซึมเข้าไปในเนื้อเมี่ยงมากเกินไปทำให้เกิดรสเปรี้ยวไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค การหมักเมี่ยงแบบนี้พบในพื้นที่แหล่งผลิตในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
“แบบที่ใช้รา” กล่าวคือ จะนำเมี่ยงนึ่งใส่ตะกร้าทิ้งไว้ให้เกิดราขาวก่อนที่จะนำไปหมัก (ภาพที่ 3) เหมือนแบบแรก ซึ่งการหมักเมี่ยงแบบหลังนี้ จะใช้หมักเมี่ยงแหลบที่ผลิตในจังหวัดแพร่ การหมักเมี่ยงจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 1 เดือน ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรสชาติที่ต้องการ ผลิตภัณฑ์เมี่ยงหมักที่ได้จะนำไปบรรจุในบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายสู่ผู้บริโภคต่อไป